ฤกษ์ยาม  ชะตา ราศี และดวงดาวบนท้องฟ้า

เมื่อแหงนดูฟ้าเราจะพบดวงดาว  เมื่อดูที่มือเราจะพบเส้นสายบนฝ่ามือ นั่งอยู่เฉย ๆ เราได้รับกระแสลมพัดผ่าน  มองไปในบริเวณที่มีน้ำเห็นกระแสน้ำ 
นั่นภาษาจีนเรียกว่า 
ฮวงจุ้ย ฮวงแปลว่าลม  จุ้ยแปลว่าน้ำ  ความหมายของฮวงจุ้ย  คล้าย ๆ  กับคำว่า  ทำเล  ในภาษาไทยนั่นเอง   มนุษย์เราไม่ว่าชาติใดภาษาใด  เชื่อโชคเชื่อลางกันมากมายยิ่งนัก   เชื่อกันตั้งแต่คนที่มีความรู้มีการศึกษาสูง ๆ ไปจนกระทั่งถึงกระยาจก เรียกว่าทุกระดับก็ว่าได้       

ฤกษ์  คืออะไร   ภาษาบาลี  สันสกฤต คำว่าฤกษ์แปลว่า  หมีหรือดาวหมี  คนอินเดียคงถือว่าเวลาดี  จึงว่า  ฤกษ์ดี  ส่วนคำว่า   ยาม  หมายถึง เวลาช่วงสามชั่วโมงในตอนกลางคืน  นับจากหนึ่งทุ่มจนถึงหกโมงเช้ามีทั้งหมดสี่ยาม ยามหนึ่งคือหนึ่งทุ่มถึงสามทุ่ม ยามสองคือสี่ทุ่มถึงเที่ยงคืน  ยามสามคือเที่ยงคืนถึงตีสาม ยามสี่คือ ตีสามถึงสว่างหรือหกโมงเช้า   คนโบราณเคยมีคำกล่าวถึงแต่ละยามดังนี้  ยามหนึ่งราชิต  คือ  ยามที่พระราชสนทนาพระเสาวนีย์กับข้าราชการฝ่ายใน เมื่อสนทนาแล้วก็เข้านอน ยามสองบัณฑิต  คือพวกนักวิชาการต้องท่องบ่นตำรา  และเที่ยงคืนจึงเข้านอน  ยามสามวานิช   คือเวลาตีสามเป็นเวลาที่วานิชเข้านอน   เพราะต้องนับเงิน  ทำบัญชี  ตรวจสินค้า ยามสี่เดียรัจฉาน  คืนตอนสว่างเป็นเวลาสัตว์เริ่มออกหากิน  แต่ในปัจจุบันคำว่า  ฤกษ์ยาม   กลับมีความหมายเปลี่ยนไป  เมื่อนำมารวมกันกลายเป็นคำผสมกลับแปลว่า  เวลาที่เหมาะสมกับกิจการหนึ่งกิจการใด   และถือเป็นแนวคิดแบบไสยศาสตร์

อีกคำหนึ่งคือ  โชค ชะตา ราศี   สามคำเมื่อรวมกันมีความหมายถึง   สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง  เป็นความเชื่อแบบไสยศาสตร์อีกเช่นกัน   ชะตา มาจากรากศัพท์บาลีสันสกฤตว่า ชาต  แปลว่า เกิดแล้ว  มีชีวิตแล้ว  ราศีเป็นศัพท์มากจากภาษาบาบิโลน บาบิโลนแบ่งวงกลมหนึ่งเป็น  12  ราศศี กาง  30  องศา และบาบิโลนแบ่งท้องฟ้าเป็น  12  ราศีด้วย ดาวที่อยู่ในเขตสามสิบองศาใดก็เรียกว่าอยู่ในราศีนั้น

ฤกษ์ยาม  ชะตา ราศี  และการดูดาวกลายเป็นศาสตร์ที่แพร่หลายไปทั่วโลก   เมื่ออิทธิพลวิทยาการแบบบาบิโลนแพร่ขยายไปในประเทศต่างๆ ชาวบาบิโลนอธิบายว่า   การโคจรของดวงดาวนั้นเกิดจากพลังซึ่งสมัยปัจจุบันเราเรียกว่า  แรงดึงดูด   บาบิโลนกล่าวว่าพลังของดวงดาวในการโคจรนั้นมีอิทธิพลต่อดวงดาวอื่นๆ  และต่อโลกด้วยการอธิบายเช่นนี้เป็นเหตุให้ชาวบาบิโลนสามารถทำให้คนทั้งโลกยอมรับความคิดของเขา  เขาคิดว่าพลังจากดวงดาวมีอิทธิพลต่อโลกและต่อชีวิตมนุษย์แต่ละคน   เรายอมรับว่าความรู้ของเขาถูกต้องระดับหนึ่ง  เช่น  เมื่อดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกจะเกิดลักษณะเรียกว่าน้ำขึ้น  หรือเมื่อดาวอังคาร  ดาวพุธ และโลกอยู่ในระดับเป็นเส้นตรง   เราพบว่าเกิดมีพลังแม่เหล็กบนพื้นโลกที่อาจรบกวนคลื่นวิทยุได้   เป็นต้น แต่ชาวบาบิโลนยังคิดต่อไปว่าบนดวงดาวมีวิญญาณ  และดวงวิญญาณของดวงดาวแต่ละดวงมาเกิดเป็นมนุษย์ ดังนั้นพลังแรงดึงดูดของดวงดาวจึงมีอิทธิพลต่อมนุษย์แต่ละคน

ชาวอินเดียรับความรู้เรื่องดวงดาวมาจากบาบิโลนแต่ชาวเยอรมันโบราณได้พูดถึงเทพผู้ยิ่งใหญ่  มีพลังแสงมากมายนามว่า ทโยปิตา ( Tyopita )  ทโยปิตาเป็นบิดาของเทพและดวงดาวทั้งปวงเป็นศูนย์รวมพลังบนฟากฟ้า ชาวอินเดียรับเอาอิทธิพลความคิดและอารยะธรรมของบาบิโลด้วย แต่ต่อมาในยุคหลัง ๆ ชาวอินเดียอธิบายกำเนิดจักรวาลว่า  พระพรหมเป็นผู้สร้าง  โลกนี้พระพรหมก็สร้างด้วย  แต่พระพรหมสร้างแล้วกำหนดให้เป็นไปตามเจตน์จำนองของพระพรหมเท่านั้น  เรียกว่า พรหมลิขิต  ซึ่งเชื่อว่าพระพรหมจะลิขิตชีวิตมนุษย์ไว้ที่หน้าผากและเอาความเชื่อแบบบาบิโลนมาผสมว่า พรหมลิขิตเกี่ยวข้องกับระบบโคจรของดวงดาวเท่านั้นยังไม่พอ  ยังนำมาโยงกับความเชื่อเรื่องเส้นสายตามตัว  เช่น  ที่ฝ่ามือว่า นั่นคือลิขิตของพระพรหมด้วย

ทางพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าสอนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต  เกิดจากกรรมของเราเอง  มิได้เกิดจากอิทธิพลของดวงดาวหรืออิทธิพลของเทพเจ้าองค์ใด แต่เกิดจากการกระทำของเราเอง  เช่น เราพูดเพราะคนฟังก็อยากฟัง  เราประพฤติดีก็มีคนรัก  มิใช่เกิดจากใครลิขิต  เราต่างหากลิขิตชีวิตของเราเอง

               

ส่วนชาวคริสต์และอิสลามเชื่อว่ามีพระเจ้า  และทั้งสองนับถือพระเจ้าองค์เดียวกันแต่เข้าใจพระเจ้าต่างกัน แม้กระนั้นก็ตามชาวคริสต์และอิสลามยังมีสิ่งที่คล้ายกันหลายประการ  อิสลามเชื่อว่าการดูหมอการดูฤกษ์ยามเป็นการไม่วางใจในพระเจ้า  พระเจ้าจะให้อะไรเกิดขึ้นก็ควรจะให้เกิด ให้เชื่อว่าพระเจ้าให้สิ่งดีแก่เราเสมอ แต่ในพระคัมภีร์คริสต์ศาสนาสอนว่าดวงดาวนั้นพระเจ้าสร้างไว้เพื่อประดับท้องฟ้ามิใช่สร้างไว้ให้เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ ดวงอาทิตย์มีหน้าที่ส่องแสงเวลากลางวัน  ดวงจันทร์มีหน้าที่ส่องแสงเวลากลางคืน ดวงดาวก็มีเพื่อให้ส่องแสงเวลากลางคืนเท่านั้นไม่มีหน้าที่อะไรต่อมนุษย์มากกว่านั้นดังนั้นเรื่องโชคชะตาราศีจึงไม่มีเมื่อพระเจ้าสร้างโลก สร้างเวลา  พระองค์ตรัสว่าดี  ดังนั้นทุกเวลาดีหมด  ถ้าเรารู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมจะดีทั้งหมด

ทำไมมนุษย์จึงเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม

                เหตุผลแรกอาจเกิดเพราะความเข้าใจผิดตามระบบความคิดของบาบิโลน  เหตุผลอื่น ๆ มีอีกมาก เช่น  เพราะเขาไม่มั่นใจในตนเอง ไม่มั่นใจในพฤติกรรมที่เขากระทำว่าจะส่งผลดีให้แก่เขา   และอีกประการหนึ่งเขาไม่อยากรับผิดชอบการกระทำของเขา  เขาจึงโยนให้โชคชะตาเป็นตัวรับผิดชอบ  เช่น นักศึกษาไม่ขยันท่องหนังสือ ไม่ตั้งใจเรียนเมื่อสอบตกก็หาเหตุโทษว่าอาจารย์แกล้ง  โทษว่าปัญญาไม่ดี  และโทษอะไรไม่ได้แล้วก็โทษโชคชะตา  เดินไม่ระหวังหกล้มรับบาดเจ็บ แทนที่จะยอมรับว่าตนเองซุ่มซ่าม กลับโทษว่า ถึงคราวเคราะห์จึงรับบาดเจ็บ  ดังนั้นคนที่เชื่อโชคชะตา จึงเป็นคนที่ขาดความรับผิดชอบต่อตนเอง   เป็นคนปัดความรับผิดชอบ คนพวกนี้ปรับปรุงตนเองให้พัฒนาต่อไปไม่ได้

          

อีกคำหนึ่งคือ  เคราะห์ คำว่าเคราะห์  เป็นศัพท์ภาษาสันสกฤต  แปลว่าถือไว้  ยึดไว้  แต่ภาษาไทยมาแปลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งหมายถึงเกิดในทางร้าย และมีพิธีสะเดาะเคราะห์ เพื่อลดความชั่วร้ายนั้น ในคริสต์ศาสนาสอนให้เน้นที่สัมพันธภาพระหว่างตัวเรากับมนุษย์  ( คนอื่น ) และตัวเรากับพระเจ้า ถ้าสัมพันธภาพสองด้านของเราดี   ทุกอย่างจะดีเอง  ไม่ต้องไปสะเดาะเคราะห์ที่ไหน  เช่น  เราสูบบุหรี่  เราก็มักจะเจ็บคอและไอ  ถ้าเราเลิกสูบบุหรี่เสีย  เคราะห์กรรมคือการเจ็บคอ   การไอมันจะหายไปเอง  ไม่ต้องไปสะเดาะเคราะห์ที่ไหนเลย

คนที่มัวแต่คอยฤกษ์ยามก็ไม่ได้เริ่มต้นอะไรสักที คนที่ปล่อยให้ชีวิตตกอยู่ใต้อำนาจโชคชะตาก็ไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองเลยสักครั้ง

ลางสังหรณ์ คืออะไร  ความเชื่อไหม มีความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์ว่า  มดจะได้กลิ่นน้ำที่จะมาก่อนที่มนุษย์จะได้กลิ่น สุนัขจุได้กลิ่นคนหรือสัตว์ไกลว่ามนุษย์  นั่นเป็นสัญชาติญาณของสัตว์  มนุษย์มีโอกาสจะรู้อะไรล่วงหน้าไหม ผมตอบได้เลยว่ามี  แต่เป็นการรู้ที่เกิดจากเหตุผล  เช่น  เรารู้ว่าเกิดมีหย่อมความกดอากาศต่ำขึ้นในที่หนึ่งที่ใดถ้าเรารู้ข้อมูลอื่น ๆ  เช่น ขนาดของความกดอากาศ และแหล่งความกดอากาศสูงที่เกิดขึ้นในทิศทางอื่น   คำนวณจากอัตราความกด อัตราความห่างและอื่น ๆ เราจะรู้ว่าจะเกิดลมมีความแรงขนาดใด พัดจากทิศใด นี่เป็นการรู้ล่วงหน้าโดยการคำนวณหรือคาดคะเนจากหลักวิทยาศาสตร์  เราอาจพูดถึงอนาคตโดยการสรุปจากเหตุปัจจุบันได้  เช่น  เห็นคนขี้โมโห  เราทายได้ว่า   ในอนาคตเขาอาจวิวาทกับคนอื่น ๆ แต่สิ่งเหล่านี้มิใช่ลางสังหรณ์ มันเกิดจากเหตุ และเราคาดคะเนผลในอนาคตได้ ไม่ใช่พูดว่าเห็นหน้าคนนี้สังหรณ์ว่าต้องมีเรื่องร้ายแน่นอน

คนโบราณอาจมีเหตุผลของลางบางชนิด แต่ต่อมาเราไม่เข้าใจเหตุผล   จึงทำให้ความเชื่อของเราเป็นลักษณะงมงาย เช่น  เมื่อสมัยที่ชาวบ้านทำการเกษตรแบบกสิกรรมและเลี้ยงสัตว์ในบ้านด้วย  เมื่อสัตว์เลื้อยคลานประเภทตะกวดหรือเหี้ยเข้ามาในบริเวณบ้าน   มันจะกินสัตว์เลี้ยงตัวเล็ก ๆ ไม่ว่าเป็ด  ไก่  ลูกหมู จนหมด จึงถือว่าเมื่อเหี้ยเข้ามาในบริเวณบ้านเป็นลางร้าย  ที่ร้ายคือ สัตว์ในเล้าตายหมด แต่ต่อมาเมื่อคนรุ่นหลังไม่ทราบเหตุผลชัด ๆ จึงคิดว่าเป็นเรื่องโชคลางแบบไสยศาสตร์ไปดังนั้น  ความเชื่อโชคลางของคนรุ่นหลังจึงมีลักษณะเป็นไสยศาสตร์    

                                                                 

ในหนังสือพระคัมภีร์ศาสนาคริสต์ในอดีตเคยมีผู้แปลศัพท์คำว่า หะนาบี  ในภาษาฮีบรู  เป็นภาษาอังกฤษว่า  Prophet แปลเป็นภาษาไทยว่า  ผู้พยากรณ์  ทำให้เกิดความเข้าใจว่าในศาสนาคริสต์มีการพยากรณ์  มีการดูโชคชะตา   มีการทำนาย  ความจริงคำว่าทะนาบี   ในภาษีฮีบรูหมายถึงคนที่ติดสนิทกับพระเจ้า จนเขารู้ว่าพระเจ้าปรารถนาจะให้มนุษย์ทำอะไร  แล้วเขามากล่าวคำที่สำแดงพระประสงค์ของพระเจ้าแก่มนุษย์ด้วยคำพูด ด้วยอาการหรือเป็นการตักเตือนบุคคลหรือชุมชน และเสนอแนะให้ชุมชนกลับใจหรือเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เขามิได้ทำนาย  เขามิได้พยากรณ์  แต่เขากล่าวคำตักเตือนที่มาจากพระเจ้า จึงไม่เกี่ยวข้องกับการดูหมอ  การดูโชคชะตา การทำนายแต่ประการใด ในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมถึงกับกำหนดโทษคนทำอาชีพหมอดูไว้   สรุปแล้ว  ไม่ว่าคุณจะเป็นชาวพุทธ คริสต์ อิสลาม ไม่มีศาสนาใดสอนเราให้เชื่อหรือติดยึดอยู่กับดวงโชคชะตา ลาง  อะไรทำนองนี้เลย   ความเชื่อเช่นนี้เป็นความคิดทางไสยศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องทางศาสนาเลยสักศาสนาเดียว และไม่มีคำทำนายในทางศาสนาด้วย

อย่าปล่อยให้สิ่งเหล่านี้มาบ่อนทำลายความเป็นตัวของตัวเองของคุณเลย   คนที่เชื่อสิ่งเหล่านี้เป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง   เป็นคนที่ปัดความรับผิดชอบของตนเอง เป็นคนที่ไม่คิดจะปรับปรุงตนเองและนั่นหมายความว่าเป็นคนที่ไม่คิดจะก้าวหน้าด้วย

อ้างอิงบทความจากหนังสือคำสอนขององค์กร Thailand youth for christ [tyfc]   

                            เรื่องที่ 2 เป็นเรื่องของหนังสือประวัติการณ์สังเขปจากพระคัมภีร์

 ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักงานซาเลเซียนใน วันที่
24 พฤษภาคม 1970 มันเป็นหนังสือที่เก่ามาก ข้าพเจ้าได้รับหนังสือนี้มากจากท่านบาทหลวงดำรัส และ   ได้เล็งเห็นว่ามันมีไม่กี่เล่มและก็คงหลงเหลือ ให้ได้อ่านน้อยเต็มที่ จึงจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ลงในเว็พของตัวข้าพเจ้าเอง หนังสือเล่มนี้จะเป็นประวัติโดยย่อยๆจากพระคัมภีร์ ทั้งฝ่ายพระธรรมเก่าและพระธรรมใหม่ ได้คัดเอามาเฉพาะตอนที่เห็นว่าเหมาะสมแก่ผู้ซึ่งมีเวลาเรียนอันจำกัด ท่านที่สนใจ  สามารถ คลิกอ่านได้จากรูปหนังสือข้างล่างนี้ได้เลย

             

ประวัติการณ์สังเขป จาก พระคัมภีร์